เตเฌเว (ฝรั่งเศส: Train ? grande vitesse; TGV) เป็นบริการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางไกลระหว่างเมืองของแอ็สแอนเซแอ็ฟ ผู้ให้บริการเดินรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 โดยฌีเออเซ-อัลสตอม (บริษัทอัลสตอมในปัจจุบัน) และแอ็สแอนเซแอ็ฟ เดิมถูกออกแบบให้ใช้พลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันแก๊ส ต่อมารุ่นต้นแบบถูกพัฒนาให้เป็นรถไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากวิกฤตการณ์น้ำมันในปี ค.ศ. 1973 ตามมาด้วยการเดินรถเที่ยวปฐมฤกษ์ระหว่างกรุงปารีสและเมืองลียงในปี ค.ศ. 1981 ในสาย แอลฌีเวซุด-เอสต์ (ฝรั่งเศส: LGV Sud-Est; Ligne ? Grande Vitesse Sud-Est; รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งมีศูนย์กลางของโครงข่ายทางรถไฟดังกล่าวอยู่ที่กรุงปารีส ต่อมามีการขยายโครงข่ายเส้นทางให้บริการสู่เมืองต่างๆ ทั่วฝรั่งเศส และสู่ประเทศใกล้เคียงทั้งในรูปแบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟธรรมดา
รถไฟเตเฌเวทำลายสถิติความเร็วของรถไฟล้อเลื่อนแตะระดับความเร็วสูงสุดที่ 574.8 กม./ชม. (357.2 ไมล์/ชม.) ในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2007 ต่อมากลางปี ค.ศ. 2011 ขบวนรถเตเฌเวที่ให้บริการตามตารางเดินรถปกติให้บริการเดินรถที่ความเร็วสูงสุด 320 กม./ชม. (200 ไมล์/ชม.) ในสายแอลฌีเวเอสต์และสายแอลฌีเวเมดิเตอร์เรเนียน
จากรายงานของนิตยสารเรลเวย์กาเซตต์ (Railway Gazette) ในปี ค.ศ. 2007 เตเฌเวสร้างสถิติให้บริการเดินรถตามตารางปกติที่มีความเร็วตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเฉลี่ยสูงสุดที่ 279.4 กม./ชม. (173.6 ไมล์/ชม.) ระหว่างช็องปาญ-อาร์เดนน์และลอร์แอน จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 สถิตินี้ก็ถูกทำลายลงโดยรถไฟด่วน ฮาร์โมนีเอ็กซ์เพรส ของจีน
จากความสำเร็จจากการเดินรถไฟแอลฌีเวเชิงพาณิชย์สายแรก เส้นทางสายแอลฌีเวซุด-เอสต์จึงถูกขยายโครงข่ายไปทางใต้ในสายแอลฌีเวโรน-แอลป์ และสายแอลฌีเวเมดิเตอร์เรเนียน รวมไปถึงสายทางทิศตะวันตกอย่างแอลฌีเวอาตล็องติค (ฝั่งทะเลแอตแลนติก) สายเหนือแอลฌีเวนอร์ด และสายตะวันออกแอลฌีเวเอสต์ จากความสำเร็จนี้เองที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิตาลี, สเปน และเยอรมนี ลอกเลียนและพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงของตัวเองขจึ้นมา ซึ่งบริการของเตเฌเวก็ขยายเส้นทางไปสู่ประเทศข้างเคียงทั้งในรูปแบบให้บริการโดยตรง (สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี) และผ่านโครงข่ายการให้บริการรถไฟความเร็วสูงอื่นที่เชื่อมโยงจากฝรั่งเศสสู่เบลเยียม, เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ (รถไฟตาลิส) เช่นเดียวกับบริการรถไฟความเร็วสูงระหว่างสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเบลเยียมของรถไฟยูโรสตาร์ ปัจจุบันมีการวางแผนขยายเส้นทางและสร้างเส้นทางใหม่หลายเส้นทางทั้งที่เป็นเส้นทางในฝรั่งเศสและเส้นทางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้เตเฌเวยังให้บริการเดินรถไฟชานเมือง เตเฌเวก็อมมูเต (TGV commuter) ที่ให้บริการในเขตชานเมืองรอบกรุงปารีส
ในปี ค.ศ. 2007 แอ็สแอนเซแอ็ฟมีผลประกอบการกำไรกว่า 1.1 พันล้านยูโร (ราว 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, 875 ล้านปอนด์) โดยส่วนมากเป็นผลมาจากการให้บริการรถไฟความเร็วสูงในโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น
ในช่วงยุค 1960 เป็นช่วงที่ความคิดเรื่องรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นในฝรั่งเศสโดยในยุคแรกนั้นมีความคิดที่ว่าจะทำรถไฟเป็นแบบ Gas-turbine เนื่องจากรถไฟของ SNCF นิยมใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวและราคาถูก จึงมีการเสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศสในการพัฒนาและวิจัยในด้านนั้น ในปี 1967 รัฐบาลฝรั่งเศสจึงอนุมัติงบสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในสายแรก หลังจากนั้นจึงได้เกิดรถไฟต้นแบบของ TGV คือ TGV-001 และ TGV-002 โดยในขบวนรถนั้นประกอบด้วยมอเตอร์ที่ขับเคลื่อนบริเวณหัวและท้ายของขบวน ในขบวนมี 3 โบกี้ คือที่นั่งชั้น 1 , ตู้ทดลอง และตู้ที่นั่งชั้น 2 โดยมอเตอร์จะควบคุมความเร็วรถไฟให้รถไฟมีความเร็วคงที่ตลอดเวลา TGV-001 ถูกทดสอบวิ่งจำนวน 5227 เที่ยว รวมระยะทางเกือบ 500,000 กิโลเมตร และมีความเร็วเกิน 300 km/h ในการทดสอบจำนวน 175 เที่ยว ต่อมาในปี 1974 ได้เกิดวิกฤติการณ์ราคาเชื้อเพลิงขยับสูงขึ้นจึงทำให้ต้องล้มเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลใน TGV และเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าแทน ต่อมามีการสร้าง TGV Sud-Est 01 และ 02 โดยมีชื่อเล่นว่า Patrick และ Sophie ซึ่งเป็นตัวทดลองของรุ่น Sud-Est ซึ่งเมื่อทดสอบแล้วพบว่ามีปัญหามาก วิศวกกรจึงได้ทำการปรับปรุง จนในวันที่ 25 เมษายน 1980 ได้มีการนำ 03 มาทดสอบซึ่งได้ผลดีและในปีต่อมาจึงนำไปบริการในเส้นทาง ปารีส - ลียง
ในฝรั่งเศส รางรถไฟมีขนาดความกว้าง 1,435 มิลลิเมตร หรือ 1.435 เมตร (Standard gauge) เท่ากันทั้งรางปกติและรางรถไฟความเร็วสูง จึงทำให้ TGV สามารถที่จะวิ่งทั้งในรางรถไฟปกติซึ่งใช้ร่วมกับรถไฟปกติและรางรถไฟความเร็วสูงที่สร้างสำหรับ TGV โดยเฉพาะ ซึ่งในฝรั่งเศสมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังนี้
ระบบการจ่ายไฟฟ้าในรางปกติและรางความเร็วสูงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือใช้ระบบการจ่ายไฟแบบ Overhead Line(จ่ายไฟเหนือรถไฟ) แต่จะมีความแตกต่างที่ระบบทไฟฟ้าที่ป้อนให้ โดยในรางปกติจะใช้ความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ 1.5 kV กระแสตรง ส่วนในรางความเร็วสูงจะใช้ที่ความต่างศักย์ 25 kV 50 Hz กระแสสลับ ซึ่งรถไฟสามารถที่ใช้กระแสไฟฟ้าทั้งสองระบบได้ รวมทั้งระบบไฟฟ้าอื่นที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อใช้ในต่างประเทศ โดยรับกระแสไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าเหนือรถไฟทำได้โดยใช้ pantograh แบบ z ในการรับกระแสไฟฟ้า
เนื่องจาก TGV เป็นรถไฟที่ใช้ความเร็วสูง ดังนั้นระบบอาณัติสัญญาณที่ใช้ทั่วไปในระบบรถไฟไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากพนักงานไม่สามารถเห็นป้ายความเร็วหรือแม้กระทั่งสัญญาณไฟที่อยู่บนรางรถไฟได้ จึงทำให้ต้องพัฒนาระบบอาณัติสัญญาณเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง โดยฝรั่งเศสได้พัฒนาเป็นระบบ TVM โดยจัดเป็น Cab-Signalling เนื่องจากมีการแสดงผลในห้องคนขับ และคนขับจะปฏิบัติตามคำสั่งตามสัญญาณต่างๆที่อยู่บริเวณหน้าปัดของรถไฟ โดย TVM จะแสดงผลเป็นรูปแบบตัวเลข สี เสียง หรือสัญญาณอื่นๆว่า ต้องทำอะไรในต่อไปเพื่อลดข้อด้อยความสามารถในการมองเห็นของคนขับในการมองเส้นทางรถไฟในความเร็วสูง