อิมเมจ แมกซิมัม เรียกโดยย่อว่า ไอแมกซ์ (อังกฤษ: IMAX ย่อมาจาก Image MAXimum) เป็นชื่อของรูปแบบฟิล์มภาพยนตร์ อุปกรณ์การฉาย ตลอดจนโรงภาพยนตร์ ที่ใช้มาตรฐานของบริษัท IMAX Corporation ประเทศแคนาดา โดยภาพยนตร์ที่ฉายด้วยระบบไอแมกซ์จะมีภาพที่มีขนาดใหญ่ และมีความละเอียดสูงกว่าภาพยนตร์ทั่วไป จอภาพยนตร์ไอแมกซ์จะมีขนาดกว้างประมาณ 22 เมตร (72 ฟุต) สูง 16.1 เมตร (63 ฟุต)
ภาพยนตร์ที่ใช้ระบบไอแมกซ์ จะถ่ายทำด้วยฟิล์มขนาดใหญ่กว่าปกติ (70 มม.) ที่ความเร็ว 24 เฟรมต่อวินาที เนื้อฟิล์มที่ใช้จะมีความแข็งแรงมากกว่าฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม. ทั่วไป เพื่อให้สามารถแสดงผลได้อย่างเที่ยงตรง
ภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ ส่วนมากเป็นภาพยนตร์สารคดี แต่ในระยะหลังมีการนำภาพยนตร์ 35 มม. มารีมาสเตอร์เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ เรียกว่า IMAX DMR (Digital Remastering) โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำมารีมาสเตอร์เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์คือเรื่อง อะพอลโล 13 ในปี พ.ศ. 2545 นอกจากนี้ ในภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์บางเรื่อง เช่น แบทแมน อัศวินรัตติกาล อภิมหาสงครามแค้น และล่าสุด อวตารยังมีการถ่ายทำฉากพิเศษที่ใช้กล้องไอแมกซ์โดยเฉพาะอีกด้วย
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 มีโรงภาพยนตร์จำนวน 1,008 โรงทั่วโลกใน 66 ประเทศ ที่ฉายในระบบไอแมกซ์ (65% อยู่ในอเมริกาเหนือ และประเทศจีน)
ปัจจุบันสิทธิ์การบริหารงานโรงภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ในประเทศไทยเป็นของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป เดิมตั้งอยู่ที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขารัชโยธิน โดยใช้ชื่อว่า กรุงไทย ไอแมกซ์ เธียเตอร์ (ทุนร่วมกับธนาคารกรุงไทย) และ พานาโซนิค ไอแมกซ์ เธียเตอร์ (ทุนร่วมกับ บริษัท พาซาโนนิค (ประเทศไทย) จำกัด) ตามลำดับ แต่ปัจจุบันเครื่องฉายดังกล่าวได้ถูกย้ายมาอยู่ที่โครงการพารากอนซีเนโพลิส หรือพารากอนซีนีเพล็กซ์ในปัจจุบัน โดยพารากอนซีนีเพล็กซ์ มีโรงฉายภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ 1 โรงภาพยนตร์ โดยใช้ชื่อว่า กรุงศรี ไอแมกซ์ เธียเตอร์ (ทุนร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา) โดยมีความสูงของจอที่สูงเท่ากับตึก 8 ชั้น และระบบเสียง IMAX ขนาด 12,000 วัตต์ ฉายภาพยนตร์ระบบไอแม็กซ์ทั้งแบบฟิล์ม 35 มม. ไอแม็กซ์ DMR และ ระบบ 3 มิติ ในช่วงแรกที่เปิดทำการ
ต่อมาเมื่อไอแมกซ์พัฒนาระบบ ไอแมกซ์ ดิจิตอล 3 มิติ เสร็จแล้ว เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้เข้าเซ็นสัญญากับไอแมกซ์ คอร์ปเรชัน ในการที่จะเปิดโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์แห่งใหม่ถึง 5 โรงภาพยนตร์ในปีเดียว ซึ่งจะใช้เงินในการลงทุนสูงถึง 500 ล้านบาท โดยในขั้นต้นมีการระบุว่าโรงไอแมกซ์แห่งใหม่ในขณะนั้น จะตั้งอยู่ที่ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน และ เอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่สุดท้ายเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้เลือกที่จะปรับปรุงโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์เดิมที่สาขารัชโยธิน (ซึ่งในขณะนั้น ใช้ฉายภาพยนตร์ระบบดิจิตอล 2 มิติแบบธรรมดาอยู่) และได้เปลี่ยนโรงภาพยนตร์ที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขาปิ่นเกล้า ให้มาฉายภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ ดิจิตอลแทน โดยใช้ชื่อว่ากรุงศรี ไอแมกซ์ ดิจิตอล เธียเตอร์ และต่อมาจึงมีการติดตั้งเครื่องฉายระบบไอแมกซ์ดิจิตอลที่ไอแมกซ์พารากอนซีนีเพล็กซ์เพื่อให้สามารถรองรับระบบไอแมกซ์ดิจิตอลได้เช่นกันโดยติดตั้งเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนจอภาพยนตร์และลำโพงรวมถึงระบบเสียงใหม่ที่มีความกระหึ่มเพิ่มขึ้นเป็น 32,000 วัตต์
ในปี พ.ศ. 2556 เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้เปิดตัวโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์เพิ่มเติมในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลสองแห่ง คือ เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์สาขาแรกนอกเขตกรุงเทพมหานคร และ เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ โดยเปิดร่วมกับโรงภาพยนตร์หาดใหญ่ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งจุดต่างของทั้งสองสาขาดังกล่าวคือไม่ได้ใช้ทุนร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำให้โรงภาพยนตร์สาขาใหม่ทั้งสองแห่งใช้ชื่อแค่ว่า "ไอแมกซ์ เธียเตอร์" ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อโรงภาพยนตร์เป็น กรุงศรี ไอแมกซ์ ดิจิตอล เธียเตอร์ เนื่องจากมีการปรับทุนมาใช้ร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาตามสาขาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งการใช้ทุนร่วมกันแบบนี้เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะทำให้แผนขยายสาขาใหม่ๆ ทำได้ไวขึ้น และทำให้การคืนทุนในแต่ละสาขาทำได้ดีมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าฉายที่โรงไอแมกซ์ตลอด ทำให้โรงไอแมกซ์สามารถคืนทุนได้ไวกว่าปกติที่ควรจะเป็น
ใน พ.ศ. 2558 เมเจอร์ซีนีเพล็กซ?์ยังคงเดินหน้าเปิดโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์เพิ่มเติมสองแห่ง คือ โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ และ โรงภาพยนตร์เวสต์เกต ซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต ซึ่งทั้งสองที่มีความแตกต่างกับโรงภาพยนตร์สาขาก่อนหน้าอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการแตกแบรนด์เพิ่มเติมของเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์โดยชูโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์เป็นจุดหลัก ปรับจอฉายภาพยนตร์เป็นรูปแบบใหม่ที่สว่างกว่าสาขาอื่นถึง 10 เท่า ออกแบบโครงสร้างเพื่อรองรับการอัปเกรดเครื่องฉายเป็นเครื่องเลเซอร์ และที่พิเศษกว่าคือที่สาขาเอ็มควอเทียร์ ได้เปลี่ยนไปใช้เก้าอี้รูปแบบใหม่ซึ่งเป็นเก้าอี้แบบเดียวกับที่ใช้ในห้องประชุมใหญ่ของทำเนียบขาว และออกแบบช่องว่างภายในโรงภาพยนตร์ รวมถึงตกแต่งโรงภาพยนตร์ด้วยแนวคิดใหม่ทั้งหมด และเปลี่ยนผู้สนับสนุนโรงภาพยนตร์หลักจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อ โตโยต้า ในประเทศไทยแทน และเรียกชื่อโรงภาพยนตร์ทั้งสองแห่งนี้ว่า "โตโยต้า ไอแมกซ์ เธียเตอร์"? ซึ่งจุดประสงค์ของโตโยต้า คือต้องการเจาะตลาดกลุ่มผู้ชมชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ด้วย และในปีนี้ ยังเป็นปีที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ได้ปิดโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์หนึ่งแห่ง คือสาขาปิ่นเกล้า โดยมีเหตุผลหลักคือเรื่องต้นทุนที่ไม่สามารถคืนทุนได้ตลอดระยะเวลาการเปิดให้บริการ ซึ่งปัจจุบันเครื่องฉายและลำโพง ได้ถูกย้ายมาติดตั้งที่สาขาเอ็มควอเทียร์แทน
ปัจจุบันเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ยังมีแผนขยายสาขาไอแมกซ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนการเปิดโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ในโรงภาพยนตร์ อีจีวี ซีเนม่า สาขาเดอะมอลล์ นครราชสีมา ที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงและก่อสร้างส่วนต่อขยาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2559 และในโรงภาพยนตร์ภายในเครือฯ ที่แบงค็อก มอลล์ และที่ไอคอนสยาม ภายในปี พ.ศ. 2561 ตามลำดับ