ไฟนอลแฟนตาซี (อังกฤษ: Final Fantasy) (ญี่ปุ่น: ??????????? Fainaru Fantaj? ฟะอินะรุฟานตะจี ?) เป็นเกมชุดของเกมอาร์พีจี ที่ได้รับความนิยมมาก สร้างขึ้นโดยสแควร์ (ปัจจุบันคือบริษัท สแควร์เอนิกซ์) โดยเกมชุดไฟนอลแฟนตาซีนี้มีในในเครื่องเล่นหลายชนิด ได้แก่ เครื่องเกมคอนโซล เครื่องเกมเคลื่อนที่ เกมออนไลน์ เกมบนโทรศัพท์มือถือ และยังมีทำเป็น ภาพยนตร์การ์ตูน 3 เรื่อง และ ภาพยนตร์เรื่องยาว 2 เรื่อง
ไฟนอลแฟนตาซีชุดแรกออกวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2530 และได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อจัดจำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือเมื่อพ.ศ. 2533 รวมทั้งวางขายภูมิภาคอื่นทั่วโลก เช่น ทวีปยุโรป และออสเตรเลีย เครื่องเล่นเกมที่มี ไฟนอลแฟนตาซี ออกจำหน่าย ได้แก่ แฟมิคอม ซูเปอร์แฟมิคอม ซูเปอร์นินเทนโด เพลย์สเตชัน วันเดอร์สวอน เพลย์สเตชัน 2 เกมคอมพิวเตอร์ เกมบอยแอดวานซ์ พีเอสพี เกมคิวบ์ นินเทนโด ดีเอส เอกซ์บอกซ์ 360 เพลย์สเตชัน 3 เอกซ์บอกซ์ วัน เพลย์สเตชัน 4 และโทรศัพท์มือถือ
จนถึงปลายพ.ศ. 2558 ไฟนอลแฟนตาซีถือว่าเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของบริษัทสแควร์เอนิกซ์ ซึ่งมียอดขายรวมมากกว่า 110 ล้านชุดทั่วโลก ปัจจุบันมีเกมในชุดหลักออกจำหน่ายแล้ว 14 เกม และมีเกมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
บริษัทสแควร์จำกัด ได้เริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจวิดีโอเกมในช่วงกลางของยุค 1980 เพื่อพัฒนาเกม RPG สำหรับเกมระบบ Nintendo's Famicom Disk System (FDS) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แผ่นดิสก์เสริมภายนอกเพื่อเล่นแผ่นดิสก์สำหรับเครื่องเกมแฟมิคอม (หรือที่รู้จักกันในนาม Nintendo Entertainment System หรือ NES) ในพ.ศ. 2530 ความนิยมใน FDS ได้เสื่อมถอยลงจนสแควร์ ต้องประสบกับภาวะล้มละลาย และในขณะนั้นเอง ฮิโรโนบุ ซาคากุจิ นักออกแบบเกมของสแควร์ ก็เริ่มสร้างเกม RPG แนวแฟนตาซีใหม่ในรูปแบบตลับเกมแฟมิคอม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเกม ดราก้อนเควสของบริษัทอีนิกซ์ ซาคากุจิวางแผนไว้ว่าจะวางมือหลังจากสร้างเกมนี้เป็นเกมสุดท้าย เขาจึงตั้งชื่อเกมนั้นว่า ไฟนอลแฟนตาซี และเกมนี้จะเป็นเกมสุดท้ายของสแคว์อีกด้วย แต่เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าบริษัทสแควร์เป็นฝ่ายตั้งชื่อเกมนี้ มิใช่ตัวซาคากุจิ แต่เขาเองยืนยันว่าเกมได้ชื่อนี้เพราะเขาจะวางมือ อย่างไรก็ตาม ไฟนอลแฟนตาซี ก็ไม่ใช่ความมหัศจรรย์ครั้งสุดท้ายเช่นชื่อ เกมนี้ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้กับทั้งสแควร์และซาคากุจิ และยังสร้างเงินจำนวนมหาศาลอีกด้วย
จากความสำเร็จของภาคแรก สแควร์ก็เร่งผลิตเกมภาคใหม่ออกมา แต่ต่างจากภาคแรก ไฟนอลแฟนตาซี II มีเป็นตัวละครใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงดำเนินเรื่องราวตามแนวหลักเหมือนกับภาคแรก ซึ่งเกมในภาคต่อๆ มาก็ดำเนินเรื่องตามแนวหลักนี้เช่นกัน ไฟนอลแฟนตาซี ในแต่ละภาค จะแนะนำให้ผู้เล่นได้รู้จักกับโลกใหม่และระบบการเล่นใหม่ เกมในแต่ละภาคจะมีเนื้อเรื่องที่แตกต่างและไม่ต่อเนื่องกัน ยกเว้น ไฟนอลแฟนตาซี X-2 ในปี พ.ศ. 2546 (หลังจากที่ได้ควบกิจการกับ อีนิกซ์) ซึ่งเป็นเรื่องราวต่อจากตอนจบของ ไฟนอลแฟนตาซี X ไฟนอลแฟนตาซี ได้ให้แนวทางสำหรับสแควร์เองในการผลิตเกมและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องอีกหลายเกม รวมทั้งยังเป็นตัวอย่างแนวทางให้เกม RPG อื่นๆ อีกหลายเกม
เกมไฟนอลแฟนตาซีได้มีทำต่อกันมาหลายรุ่น โดยแต่ละรุ่นจะไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด และมีวางจำหน่ายมาหลายเครื่องเล่น
ภาคนินเทนโดดีเอส มีการทำตัวละครเป็นสามมิติหมดแตกต่างจากภาคแรก รวมถึงเนื้อหาและอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป
รีเมคใหม่ในเครื่องเล่นนินเทนโด ดีเอส ตัวกราฟิกของเกมมีลักษณะเป็นสามมิติทั้งหมด รวมทั้งมีลูกเล่นในเกม และเนื้อเรื่องเพิ่มเติมจากเนื้อเรื่องหลัก
แม้ว่า ไฟนอลแฟนตาซี ในแต่ละภาคจะมีเรื่องราวและระบบการเล่นต่างกัน แต่ก็มีสิ่งที่มีอิทธิพลหลักๆต่อรูปลักษณ์ของเกมเหมือนๆ กันในทุกภาค เช่น ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เรื่องลึกลับ บางอย่างในเกม เช่น มอนสเตอร์ ไอเท็ม สิ่งของบางสิ่ง ตัวละครบางตัว ก็วนเวียนมาให้เห็นในเกือบทุกภาค และเป็นสิ่งที่ ไฟนอลแฟนตาซี ขาดมิได้ ถ้าขาดไป กลิ่นอายและเสน่ห์ของเกมก็คงจะจืดจาง
กิลสามารถใช้ในการซื้อของเหมือนใช้เป็นเงินทั่วไป โดยรวมไปถึงการซื้ออาวุธ ไอเทม และอุปกรณ์เสริมต่างๆ โดยเงินกิลปกติจะได้รับมาจากการต่อสู้กับศัตรู และเมื่อชนะจะได้เงินในหน่วยกิลมาขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของศัตรู
ในเกมภาค 5 และภาค 6 ได้มีความสามารถพิเศษของตัวละครในเกม คือการขว้างเหรียญเพื่อโจมตีศัตรู แสดงให้เห็นถึงลักษณะของเหรียญกิล โดยมีลักษณะสีทองและมีรูตรงกลาง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเงินเยนของประเทศญี่ปุ่น
งานออกแบบศิลป์ รวมทั้งตัวละครและมอนสเตอร์ ตั้งแต่ ไฟนอลแฟนตาซี I จนถึง ไฟนอลแฟนตาซี VI นั้นเป็นผลงานของ โยชิทากะ อามาโนะ ศิลปินชาวญี่ปุ่น และในภาคต่อมาจนถึง ไฟนอลแฟนตาซี X ได้รับช่วงงานต่อโดย เท็ตสึยะ โนมูระ เว้นแต่ใน ไฟนอลแฟนตาซี IX ที่เป็นผลงานของ ชูโค มุราเซะ ผู้ออกแบบตัวละครเรื่อง กันดั้มวิง และใน ไฟนอลแฟนตาซี XII งานออกแบบฝ่ายศิลป์ได้เป็นของ อากิฮิโกะ โยชิดะ ที่ได้ฝากผลงานไว้ใน ไฟนอลแฟนตาซี แท็คติกส์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในไฟนอลแฟนตาซียุคใหม่ จะไม่ใช้ผลงานของ อ.โยชิตากะ อามาโนะ เป็นหลักแล้ว แต่ก็ยังมีภาพลายเส้นสไตล์เฉพาะตัวของเขา ช่วยเพิ่มสีสันและความคลากสิก แทรกอยู่ตลอดมา
โนบุโอะ อุเอมัตสึ ได้รับหน้าที่นักประพันธ์เพลงหลัก ในเกมชุด ไฟนอลแฟนตาซี ตลอดมา จนเกษียณตัวเองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ผลงานเพลงของเขายังคงเป็นที่คุ้นหูและจดจำใน ไฟนอลแฟนตาซี ทุกภาคที่ผ่านมา อุเอมัทซึ ยังได้ร่วมกับนักดนตรีร็อกตั้งวง ชื่อ "นักเวทย์ดำ" (The Black Mages) ออกอัลบั้มเพลง ไฟนอลแฟตาซี ซึ่งเรียบเรียงใหม่ 2 อัลบั้ม นักประพันธ์เพลงที่ได้ร่วมงานใน ไฟนอลแฟนตาซี ยังมี มาซาชิ ฮามาอุสุ และ จุนยะ นากาโนะ
ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการแสดงคอนเสิร์ต ไฟนอลแฟนตาซี 2ครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เพลงประกอบเกม ไฟนอลแฟนตาซี ยังโด่งดังนอกประเทศ ญี่ปุ่น จนวง ลอนดอนซิมโฟนีออเคสตร้า ได้นำเพลงจาก ไฟนอลแฟนตาซี ไปเล่นด้วย และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 อเมริกันออนไลน์ได้เปิดสถานีวิทยุเพื่อเล่นเพลงจาก ไฟนอลแฟนตาซี โดยเฉพาะ และในเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเกม ยังมี เพลงประกอบให้ดาวน์โหลดกันทั้งในรูปแบบ MIDI และ MP3 ด้วย