ยูโรสตาร์ (อังกฤษ: Eurostar) เป็นรถไฟความเร็วสูงที่ให้บริการในยุโรปตะวันตก เชื่อมต่อระหว่างลอนดอนและเคนต์ ในสหราชอาณาจักร กับปารีสและลีลในฝรั่งเศส และบรัสเซลส์ในเบลเยียม นอกจากนั้นยังให้บริการจากลอนดอนไปยังดิสนีย์แลนด์รีสอร์ตในปารีส และอีกหลายจุดหมายปลายทางตามแต่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยวิ่งผ่านอุโมงค์รถไฟลอดใต้พื้นทะเลช่องแคบอังกฤษ และฝรั่งเศส
รถไฟยูโรสตาร์เป็นขบวนรถไฟจำนวน 18 โบกี้ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (186 ไมล์ต่อชั่วโมง) สร้างโดยบริษัทอัลสธอม ประเทศฝรั่งเศส โดยใช้เทคโนโลยีของรถไฟเตเฌเว (TGV) ในการพัฒนา ให้บริการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1994 ระหว่างลอนดอน ปารีส และลอนดอน บรัสเซลล์ ส่วนขบวนรถที่วิ่งระหว่างปารีส บรัสเซลล์ ให้บริการโดยรถไฟตาลิส และรถไฟเตเฌเว
สถานีหลักของยูโรสตาร์ที่ประเทศอังกฤษ คือสถานีนานาชาติเซนต์แพงครัส (St Pancras International) ในลอนดอน และอีกสองสถานี คือสถานีนานาชาติเอปสฟลีท (Ebbsfleet International) และสถานีนานาชาติแอชฟอร์ด (Ashford International) ในเมืองเคนท์ ส่วนสถานีในประเทศฝรั่งเศสคือสถานีกาแล เฟรทุน (Calais-Fr?thun) และสถานีลีล-ยุโรป (Lille-Europe) และสถานีหลักคือสถานีปารีส นอร์ท (Gare du Nord) ในปารีส สถานีที่ประเทศเบลเยี่ยมคือสถานี Midi/Zuid ในบรัสเซลล์ นอกจากนี้ยังให้บริการจากลอนดอนไปยังดิสนีย์แลนด์รีสอร์ท และอีกหลากหลายจุดหมายปลายทางในฝรั่งเศส ตามแต่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง รถไฟยูโรสตาร์ได้ร่วมบริหารโดยรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) การรถไฟแห่งชาติเบลเยี่ยม (NMBS/SNCB) และบริษัทยูโรสตาร์ ของอังกฤษ (EUKL) ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของ London and Continental Railways (LCR) ซึ่งเป็นเจ้าของระบบรางรถไฟความเร็วสูงและสถานีในฝั่งประเทศอังกฤษ รถไฟยูโรสตาร์ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในการเดินทางระหว่างเมืองที่ให้บริการ โดยมีผู้โดยสารต่อปีมากกว่าทุกสายการบินรวมกันในจุดหมายเดียวกัน
ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2010 ได้จัดตั้งบริษัท ยูโรสตาร์ อินเตอร์เนชั่นเนล ลิมิเตด (EIL) ขึ้นมาบริหารแทนบริษัทรถไฟทั้งสามที่ดูแลอยู่ก่อน ซึ่งบริษัทใหม่นี้ถือหุ้นโดย LCR (40%), SNCF(55%) และ NMBS/SNCB (5%)
ประวัติศาสตร์ของรถไฟยูโรสตาร์ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1974 เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสมีแนวคิดร่วมกันที่จะสร้างอุโมงใต้ทะเลผ่านช่องแคบอังกฤษ ระหว่างเกาะบริเทน และประเทศฝรั่งเศส แต่โครงการก็ถูกยกเลิกไป โครงการนี้ได้ถูกนำมาทบทวนอีกครั้งในปี ค.ศ. 1986 และเริ่มก่อสร้างอุโมงผ่านช่องแคบอังกฤษโดยบริษัทยูโรทัลแนล การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1993 และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1994
ระยะแรกของการให้บริการของรถไฟผ่านอุโมงค์ใต้ทะเลคือการขนรถยนต์ และรถบรรทุก ภายหลังมีการตัดสินใจว่าจะสร้างระบบรางเพื่อให้รถไฟโดยสารวิ่งผ่าน การรถไฟอังกฤษและการรถไฟฝรั่งเศสจึงได้ทำสัญญากับยูโรทัลแทล ในการใช้อุโมงค์สำหรับรถไฟโดยสาร
ปี ค.ศ. 1987 อังกฤษ ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม มีโครงการร่วมกันที่จะก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศผ่านอุโมงค์ใต้ทะเล ฝรั่งเศสได้สร้างระบบรางสำหรับรถไฟความเร็วสูงใหม่ในชื่อ LGV Nord จากปารีสถึงอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษฝั่งฝรั่งเศส และใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับรถไฟ TGV ที่ฝรั่งเศสเองมีอยู่ก่อนแล้ว และสั่งซื้อขบวนรถไฟเพิ่มอีก 30 ขบวนจากบริษัทอัลสธอม
วันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1993 รถไฟยูโรสตาร์ขบวนแรกได้วิ่งจากปารีส ผ่านอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษสู่ประเทศอังกฤษ มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่างกับขบวนรถใหม่นี้บนรางฝั่งอังกฤษ แต่ปัญหาก็ถูกแก้อย่างรวดเร็ว
14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 ให้บริการระหว่างสถานีนานาชาติวอเทอร์ลู ในลอนดอน สถานีปารีส นอร์ท ในปารีส และสถานีบรัสเซลส์ เซาท์ ในบรัสเซลส์ ทำความเร็วเฉลี่ย 171.5 กม./ชม. ระหว่างปารีส และลอนดอน
8 มกราคม ค.ศ. 1996 ยูโรสตาร์เปิดสถานีแห่งที่สองในอังกฤษ คือสถานีนานาชาติแอสฟอร์ด ปลายปี ค.ศ. 1997 การเดินทางระหว่างลอนดอนและบรัสเซลส์เร็วมากขึ้นเมื่อเบลเยี่ยมเปิดใช้ระบบราง HSL 1 วันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ยูโรสตาร์ได้ย้ายสถานีหลักจากสถานีวอเทอร์ลู มาที่สถานีนานาชาติเซนต์แพงครัส
อุโมงค์ช่องแคบอังกฤษที่รถไฟยูโรสตาร์วิ่งนั้น เป็นอุโมงค์ใต้ทะเลที่มีความยาวมากที่สุดในโลก ทำให้รถยูโรสตาร์เป็นรถไฟที่วิ่งในอุโมงค์ยาวที่สุดในโลก
ยูโรสตาร์ทำสถิติของอังกฤษด้วยการวิ่งด้วยความเร็ว 334.7 กม./ชม. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2003 บนราง High Speed 1 ของอังกฤษ
วันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ยูโรสตาร์ได้ทำสถิติใหม่ด้วยเดินทางด้วยความเร็วสูงแบบไม่หยุดพัก เป็นระยะทาง 1,421 กม. จากลอนดอน ถึงเมืองคานส์ ในฝรั่งเศส ใช้เวลาทั้งหมด 7 ชั่วโมง 25 นาที
วันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2007 ขบวนรถเดินทางออกจากสถานีปารีส นอร์ท พร้อมนักข่าวและเจ้าหน้าที่ เวลา 10.44 น. ถึงสถานีนานาชาติเซนต์แพนคราสในลอนดอน ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 2 ชั่วโมง 3 นาที 39 วินาที เป็นการทำลายสถิติใหม่
จุดประสงค์เดิมของการสร้างรถไฟยูโรสตาร์คือการให้บริการจากเมืองทางตอนเหนือของอังกฤษ ไปสู่ปารีส และบรัสเซลส์ เช่น จากแมนเชสเตอร์ ผ่านเบอร์มิงแฮม ไปตามเส้นทาง West coast และจากกลาสโกว์ ผ่านเอดินบะระ นิวคาสเซิ่ล และยอร์ก ไปตามเส้นทาง East coast อย่างไรก็ตามได้มีการสร้างรางสำหรับรถไฟท้องถิ่นยูโรสตาร์สายสั้นๆทางตอนเหนือของอังกฤษแล้วจำนวนเจ็ดสาย แต่ไม่ได้มีการให้บริการจริง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจะไม่สามารถแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำที่มีการเติบโตสูงในช่วงทศวรรษที่ 1990 ได้ เพราะหากเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงจากเมืองกลาสโกว ซึ่งเป็นเมืองทางตอนเหนือของอังกฤษไปปารีส จะใช้เวลากว่า 9 ชั่วโมง แต่เครื่องบินใช้เวลาน้อยกว่านั้น และยังมีราคาที่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุที่คาดว่าได้ทำให้รถไฟท้องถิ่นยูโรสตาร์ต้องระงับไป คือนโยบายทางการเมืองในสมัยนั้น และจากการแทรกแซงโดยรถไฟท้องถิ่นเอกชนของอังกฤษ
บริษัทรถไฟ Great North Eastern Railway ได้เช่ารถไฟยูโรสตาร์จำนวน 3 ขบวน เพื่อให้บริการภายในประเทศจากสถานีรถไฟคิงครอสในลอนดอน ไปยังยอร์ก และลีดส์ สัญญาเช่าหมดลงในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2005 และรถไฟที่เช่าทั้งทั้งหมดได้โอนไปให้การรถไฟฝรั่งเศส เพื่อนำไปใช้ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ได้มีการวางแผนที่จะสร้างรถไฟนอนระหว่างประเทศไนท์สตาร์ ที่จะให้บริการในเส้นทางเดียวกันกับรถไฟท้องถิ่นยูโรสตาร์ รวมถีงให้บริการจากสายตะวันตกของอังกฤษ ไปยังเมืองคาร์ดิฟฟ์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นเวลล์ แต่มีการประเมินทางการตลาดว่าจะไม่ทำกำไรให้ และได้ถูกล้มเลิกไป ขบวนรถทั้งหมดได้ถูกขายให้กับบริษัทรถไฟแคนาดา
เริ่มแรกนั้นสถานีนานาชาติแอชฟอร์ดสร้างขึ้นสำหรับรถไฟยูโรสตาร์เพื่อรับส่งผู้โดยสารในเมืองเคนท์ เช่นเดียวกับสถานีรถไฟนานาชาติเอปสฟลีท แต่หลังจากที่เปิดใช้แล้ว แต่มีรถไฟหยุดที่สถานีนี้เพียง 4 ขบวนต่อวันคือ 3 ขบวนไปปารีส และอีก 1 ขบวนไปสวนสนุกดิสนี่ย์แลนด์ ที่หยุดเพียง 3 ขบวนเนื่องจากรถไฟจะเสียความเร็วจากการจอดมาก และเกรงว่าการหยุดรถที่สถานีนานาชาติแอชฟอร์ดจะทำให้ผู้โดยสารลดลงหรือเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งอื่นแทน ดังนั้นยูโรสตาร์จึงวางแผนที่จะสร้างให้สถานีนานาชาติเอปสฟลีทเป็นชุมทางสำหรับรถท้องถิ่นแทน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ยูโรสตาร์ยกเลิกขบวนรถไฟไปบรัสเซลส์ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจของคนในท้องถิ่น
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 ยูโรสตาร์ได้จัดขบวนรถวันละ 1 เที่ยวจากสถานีนานาชาติแอชฟอร์ดสู่บรัสเซลส์ แต่ก็ยังมีข้อกังขาว่า มีที่จำหน่ายตั๋วน้อยมากทั้งขาไปและขากลับมาที่สถานี่นานาชาติแอชฟอร์ด
LGV Nord LGV Nord (Lignes ? Grande Vitesse-Nord) คือระบบรางรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส จากปารีสไปทางเหนือจนสุดพรมแดนเบลเยี่ยมและเชื่อมต่อกับราง HSL 1 ของเบลเยี่ยม และแยกจากสถานีลีลล์-ยุโรป ไปบรรจบกับอุโมงช่องแคบอังกฤษ ทำให้ LGV Nord เป็นเส้นทางหลักของรถไฟยูโรสตาร์ทุกขบวน ในบรรดารางรถไฟความเร็วสูงทั้งหมดของฝรั่งเศส LGV Nord เป็นรางที่ใช้งานมากที่สุด
อุโมงค์ช่องแคบอังกฤษเป็นเส้นทางส่วนที่สำคัญที่สุดเนื่องจากมีแค่ขนส่งระบบรางเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เชื่อมต่อเกาะบริเตนใหญ่ และยุโรปแผ่นดินใหญ่ ปลายของอุโมงค์ทั้งสองด้านนั้นเชื่อมต่อกับราง LGV Nord ในฝั่งของฝรั่งเศส และราง High Speed One ในฝั่งของอังกฤษ เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1988 มีระยะทาง 50.5 กม. มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และประธานาธิบดีฟร็องซัว มีแตร็อง ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 ที่เมืองกาแลท์ เจ้าของอุโมงค์คือบริษัทยูโรทันแนล ซึ่งจะเก็บค่าผ่านทางจากรถไฟยูโรสตาร์ในการใช้งาน ในปี ค.ศ. 1996 สมาคมวิศวกรแห่งอเมริกา ได้ประกาศให้อุโมงค์ช่องแคบอังกฤษเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ปกติแล้วรถไฟยูโรสตาร์จะวิ่งด้วยความเร็ว 300 กม./ชม. ยกเว้นช่วงที่วิ่งในอุโมงค์จะลดความเร็วเหลือ 160 กม./ชม. เนื่องจากเหตุผลของความปลอดภัย นับตั้งแต่เปิดให้บริการเป็นต้นมา มีเหตุการณ์ที่ต้องยกเลิกเที่ยวรถไฟจากไฟไหม้ในอุโมงอย่างหนักในปี ค.ศ. 1996 และไฟไหม้เล็กน้อยในปี ค.ศ. 2006 และปี ค.ศ. 2008
HSL 1 HSL 1 (High Speed Line 1) เป็นระบบรางรถไฟความเร็วสูงของเบลเยี่ยมระยะทาง 88 กิโลเมตร เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1997 เป็นรางรถไฟที่เชื่อมต่อจากราง LGV Nord จากชายแดนประเทศฝรั่งเศส รถไฟยูโรสตาร์สามารถวิ่งข้ามประเทศได้โดยไม่ต้องลดความเร็ว ทำให้รถไฟทำเวลาได้ดีมากขึ้นเมื่อรางนี้เปิดใช้งาน และเร็วขึ้นอีก 4 นาทีเมื่อสถานีบรัสเซลส์ เซาท์ เปิดใช้รางเชื่อมไปยังชานชาลารถไฟระหว่างประเทศสำหรับรถไฟยูโรสตาร์ และรถไฟทาลีส โดยเฉพาะ
High Speed 1 High Speed 1 (HS1) เป็นระบบรางรถไฟความเร็วสูงในอังกฤษ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า Channel Tunnel Rail Link (CTRL) ระยะทาง 108 กิโลเมตร จากลอนดอน ผ่านเมืองเคนท์ เข้าสู่อุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ มีการสร้าง 2 ระยะ ระยะแรกระหว่าง อุโมงค์ ถึงชุมทางฟอว์คแฮมทางตอนเหนือของเคนท์ เปิดใช้เมื่อปี ค.ศ. 2003 ย่นระยะเวลาเดินทางระหว่างลอนดอน-ปารีสเหลือ 2 ชั่วโมง 35 นาที เร็วขึ้น 21 นาที และลอนดอน-บรัสเซลส์ เหลือ 2 ชั่วโมง 20 นาที ในปี ค.ศ. 2007 เปิดใช้รางส่วนที่เหลือทั้งหมดจากชุมทางฟอล์คแฮมถึงลอนดอน และปรับปรุงสถานีนานาชาติเซนต์แพนคราส เพื่อเป็นสถานีแห่งใหม่ของขบวนรถไฟยูโรสตาร์ เมื่อการก่อสร้างราง HS1 สำเร็จ ทำให้รางของรถไฟยูโรสตาร์ในฝั่งอังกฤษมีมาตรฐานเดียวกันกับรางรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม และย่นระยะเวลาเดินทางจากลอนดอน-ปารีสเหลือ 2 ชั่วโมง 15 นาที เร็วขึ้น 20 นาที และลอนดอน-บรัสเซลส์เหลือ 1 ชั่วโมง 51 นาที
รถไฟยูโรสตาร์มีขบวนรถระหว่างลอนดอน-ปารีส 16 ขบวนต่อวัน (18 ขบวนในวันศุกร์) ในจำนวนนี้มีขบวนรถที่ไม่หยุดระหว่างทาง 10 ขบวน (12 ขบวนในวันศุกร์) และระหว่างลอนดอน-ลีลล์-บรัสเซลส์ 10 ขบวนต่อวัน (5 ขบวนไม่หยุดที่ลีลล์) นอกจากนี่ยังมีขบวนรถสู่ลอนดอนจากสถานี Marne-la-Vall?e - Chassy ไกล้กับสวนสนุกดีสนีย์ แลนด์ปารีส ทุกวันจันทร์ พุธ พฤหัส ศุกร์ และอาทิตย์ ในช่วงระหว่างที่โรงเรียนเปิดเทอมแต่จะมีขบวนรถวิ่งทุกวันในช่วงวันหยุดปิดเทอม รถไฟยูโรสตาร์มีขบวนรถตามฤดูกาลในแต่ละช่วงของปีดังนี้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน มีขบวนรถระหว่างลอนดอน-แอชฟอร์ด-ลียง-อาวีญง-โพรวองซ์ ในฝรั่งเศส สัปดาห์ละ 1 เที่ยว ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน มีขบวนรถระหว่างลอนดอน-แอชฟอร์ด-อาวีญง สัปดาห์ละ 1 เที่ยว ในช่วงฤดูหนาวมีขบวนรถ "snow trains" สู่สกีรีสอร์ทสำหรับผู้ที่ต้องการไปเล่นสกีในช่วงฤดูหนาว ระหว่างลอนดอน-Bourg-Saint-Maurice, Aime-la-plagne และ Mo?tiers ในเทือกเขาแอลป์ 2 ขบวนต่อสัปดาห์คือ 1 ขบวนในเวลากลางวัน และอีก 1 ขบวนเป็นรถนอนกลางคืน จอดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีนานาชาติแอปสฟลีท สถานีนานาชาติแอชฟอร์ด สถานีกาแล-แฟรทุน และสถานีลีลล์-ยุโรป
ค่าโดยสารรถไฟยูโรสตาร์นั้นค่อนข้างสูงในช่วงแรกๆที่เปิดให้บริการ ค่าโดยสารไป-กลับที่ถูกที่สุดในปี ค.ศ. 1994 ระหว่างลอนดอน-ปารีส ราคา 99 ปอนด์ ในปี 2002 ทางยูโรสตาร์ได้มีแผนที่จะปรับลดค่าโดยสาร เช่นตั๋วไป-กลับภายใน 1 วัน ระหว่างลอนดอน-ปารีส และลอนดอน-บรัสเซลส์ เริ่มต้นที่ราคา 50 ปอนด์ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2003 ราคาตั๋วไป-กลับที่ถูกที่สุดจากลอนดอนราคา 59 ปอนด์ ใช้ได้ตลอดทั้งปี เดือนมิถุนายน ปี 2009 รถไฟยูโรสตาร์ปรับราคาตั๋วเที่ยวเดียวระหว่างลอนดอน-ปารีส และบรัสเซลส์ เริ่มต้นที่ 31 ปอนด์ การแข่งขันระหว่างรถไฟยูโรสตาร์และสายการบิน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รถไฟยูโรสตาร์ต้องลดราคาค่าโดยสารในช่วงแรกๆ ค่าโดยสารในชั้นธุรกิจยังมีการตัดราคาให้ถูกกว่าการเดินทางโดยเครื่องบินเล็กน้อยเมื่อเทียบในเส้นทางเดียวกัน กลุ่มลูกค้าหลักคือนักธุรกิจที่เดินทางบ่อย ในปี 2009 ยูโรสตาร์ได้เพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับตั๋วเพื่อพยุงราคาตั๋วโดยสาร ช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตและมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่โดดเด่น ระบบการจำหน่ายตั๋วของรถไฟยูโรสตาร์เป็นระบบที่ซับซ้อนมาก โดยมีระบบการจำหน่ายตั๋วมากกว่า 48 ระบบ ยูโรสตาร์เป็นสมาชิกของ Amadeus ซึ่งเป็นระบบการจัดการสำรองที่นั่งของสายการบินต่างๆทั่วโลก ทำให้ตั๋วของยูโรสตาร์มีลักษณะเหมือนตั๋วของสายการบินทั่วโลก
เนื่องจากบริษัทยูโรสตาร์ไม่ต้องให้บริการรถท้องถิ่นยูโรสตาร์ที่ให้บริการในภาคอื่นๆของประเทศอังกฤษเหมือนความตั้งใจเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ทำให้ยูโรสตาร์ได้พัฒนาระบบเชื่อมต่อกับการระบบขนส่งอื่นๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน เช่นการร่วมปรับปรุงตารางการเดินรถและเส้นทางให้บริการกับรถไฟเดิมของอังกฤษให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้ระบบรถไฟยูโรสตาร์เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางต่างๆในภาคพื้นยุโรปได้ง่ายขึ้น โดยมี 3 สถานีหลักในการให้บริการคือ สถานีนานาชาติเซนต์แพงครัส สถานีปารีสนอร์ท และสถานีบรัสเซลส์มิดิ ทั้ง 3 สถานีนี้เชื่อมต่อกับรถไฟท้องถิ่น หรือระบบขนส่งมวลชนที่ให้บริการในประเทศนั้นๆ เช่นรถไฟใต้ดินของลอนดอน และปารีส เมโทร รถไฟยูโรสตาร์มีพันธมิตรร่วมกับระบบขนส่งทางรางอื่นๆมากมาย ที่สำคัญๆได้แก่ รถไฟตาลิส เชื่อมต่อที่ ลีลล์ และบรัสเซลส์ สำหรับผู้โดยสารของยูโรสตาร์ที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ในปี 2002 ยูโรสตาร์เริ่มให้บริการโปรแกรม ยูโรสตาร์-พลัสส์ ซึ่งเป็นตั๋วโดยสารที่ใช้ต่อจากสถานีลีลล์และปารีส สู่หลากหลายจุดหมายปลายทางในฝรั่งเศส ตั๋วรถไฟยูโรสตาร์ยังใช้ได้จากเมืองต่างของอังกฤษมากกว่า 68 เมืองสู่หลากหลายเมืองในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม ในปี 2009 ยูโรสตาร์ได้ร่วมมือกับเตเฌเว ลีรียา (TGV Lyria - ชื่อของรถไฟ TGV ในเส้นทางระหว่างฝรั่งเศสและสวิสเซอร์แลนด์) ให้บริการเชื่อมต่อไปยังสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งจะดำเนินการโดยรถไฟ TGV จากสถานีลีลล์ สู่เทือกเขาแอลป์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์
เนื่องจากสหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เชงเก้น ในทางกลับกัน เบลเยี่ยมและฝรั่งเศสก็ไม่ได้อยู่ใน Common Travel Area (ไอร์แลนด์,บริเตนใหญ่,เกาะแมน และหมู่เกาะแชนแนล) ทำให้ผู้โดยสารรถไฟยูโรสตาร์ทุกคนต้องผ่านการตรวจคนเข้าเมือง ทั้งรัฐบาลอังกฤษ และรัฐบาลของกลุ่มประเทศเชงเก้นได้ มีข้อตกลงร่วมกันที่จะตรวจเอกสารการเดินทางของผู้ที่เดินทางด้วยรถไฟยูโรสตาร์ในการข้ามประเทศ
การตรวจคนเข้าเมืองและตรวจด้านความปลอดภัยจะทำเหมือนที่ท่าอากาศยานทุกแห่ง มีตั้งแต่การตรวจเอ็กซ์เรย์กระเป๋าสัมภาระ ตรวจค้นอาวุธและของมีคมในกระเป๋าเสื้อและกางเกง การตรวจค้นที่สถานีรถไฟยูโรสตาร์เทียบได้กับสนามบินเล็กๆ แต่ไวกว่าสนามบินใหญ่ๆเช่นสนามบินลอนดอนฮีทโทรว์ เวลาที่ทางยูโรสตาร์แนะนำในการเช็คอินก่อนออกเดินทางคือ 30 นาที ยกเว้นผู้โดยสารชั้นธุรกิจใช้เวลาประมาณ 10 นาที สำหรับเหตุผลในการตรวจค้นแบบเต็มรูปแบบเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยของอังกฤษในการโดยสารผ่านอุโมงค์ช่องแคบอังกฤษ
ผู้โดยสารรถไฟยูโรสตาร์ที่เดินทางภายในพื้นที่เชงเก้น (เช่นจากบรัสเซลส์-ลีลล์ หรือบรัสเซลส์-กาเลต์) จะถูกตรวจค้นโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอังกฤษภายในเขตประเทศเบลเยี่ยม ตั้งแต่ยังไม่มีวิธีการที่จะคัดแยกผู้โดยสารที่โดยสารในเส้นทางบรัสเซลส์-ลอนดอน
ภายหลังจากการลงนามไตรภาคี รัฐบาลเบลเยี่ยมกล่าวว่ามีคำถามจากหลายฝ่ายถึงความสอดคล้องข้อตกลงนี้กับหลักการของสนธิสัญญากลุ่มประเทศเชงเก้นที่อนุญาตให้พลเมืองที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เชงเก้นมีการย้ายถิ่นอย่างเสรี วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2009 ที่ประชุมสภาสามัญชนของอังกฤษได้แสดงความกังวลต่อประเด็นของยูโรสตาร์ว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายของฝรั่งเศสในการที่รัฐบาลอังกฤษจะเก็บข้อมูลของผู้โดยสารภายใต้โครงการ e-Borders (การตรวจคนเข้าเมือง) ดังนั้นในกรณีที่ไม่มีด่านตรวจรักษาความปลอดภัย และไม่มีสถานีที่แยกอย่างเป็นกิจลักษณะ เช่นผู้โดยสารที่เดินทางกับรถที่เปิดบริการตามฤดูกาลท่องเที่ยว ต้องมาเปลี่ยนรถที่สถานีลีลล์และผ่านการตรวจคนเข้าเมืองและตรวจด้านความปลอดภัยที่นี่ มีหลายครั้งที่ผู้โดยสารพยายามหนีการตรวจค้นและหลบซ่อนเพื่อเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเข้าสู่ประเทศอังกฤษ และหลายๆครั้งมาเป็นกลุ่มใหญ่ ทำให้การตรวจคนเข้าเมืองอังกฤษต้องเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น และยูโรสตาร์ได้อ้างว่าได้ให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมในมาตรการด้านความปลอดภัย
ความตรงเวลาของรถไฟยูโรสตาร์นั้นเปลี่ยนแปลงทุกๆปี แต่อย่างไรก็ตามมักจะตรงเวลามากกว่า 90% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 1999 รถไฟยูโรสตาร์ตรงเวลามากกว่า 89% ไตรมาสที่สองตรงเวลากว่า 92% และเคยทำสถิติในการเดินทางตรงเวลาถึง 97.35% ในช่วงวันที่ 16 ถึง 24 สิงหาคม ปี 2004 ในปี 2006 และ 2007 ตรงเวลากว่า 92.7% และ 91.35% ตามลำดับ และมีความตรงเวลามากกว่าสายการบินคู่แข่งในเส้นทางเดียวกันกว่า 76%
ข้อได้เปรียบของรถไฟยูโรสตาร์คือความสะดวกสบายและความเร็วในการให้บริการ ด้วยเวลาเชคอินที่น้อยกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินแต่มีความตรงเวลามากกว่า ใช้เวลาเดินทางระหว่างใจกลางลอนดอน และใจกลางปารีสน้อยกว่าการโดยสารเครื่องบิน ปัจจุบันยูโรสตาร์มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงในตลาดการแข่งขัน รถไฟ-เครื่องบินใน 3 เมืองหลักคือปารีส ลอนดอน บรัสเซลส์ ในปี 2004 มีส่วนแบ่งการตลาด 66% ในเส้นทางลอนดอน-ปารีส, ส่วนแบ่งการตลาด 59% ในเส้นทางลอนดอน-บรัสเซลส์ และในปี 2007 มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 71% ในเส้นทางลอนดอน-ปารีส และมีส่วนแบ่งการตลาด 65% ในเส้นทางลอนดอน-บรัสเซลส์
ยูโรสตาร์ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้สร้างมาตรฐานใหม่ในการเดินทางระหว่างประเทศโดยรถไฟและได้รับรางวัลหลายครั้ง เช่นรางวัลรถไฟแห่งปี จาก HSBC Rail Award ในปี 2005 รางวัลบริษัทรถไฟยอดเยี่ยม ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ดิการ์ดเดี่ยนและหนังสือพิมพ์ดิออฟเซิฟเวอร์ของอังกฤษในปี 2008
ในการให้รางวัลมีการกล่าวว่าบริษัทยูโรสตาร์มีพยายามเป็นอย่างสูงที่จะสร้างแบรนด์อิมเมจและภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้บริโภค
เดือนมิถุนายน ปี 2003 ได้ต่อสู้อย่างหนักที่จะฟื้นตัวจากภาวะที่ย่ำแย่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์จากสื่อในทางลบประกอบกับผลประกอบการที่แย่และทัศนคติที่ไม่ดีต่อบริษัทรถไฟของอังกฤษ ทำให้ยูโรสตาร์ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ยูโรสตาร์ประสบปัญหาอย่างหนักที่จะดึงตัวเองขึ้นจากภาวะที่เลวร้ายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ภาวะหลังเหตุการ 9/11 ทำให้ผลประกอบการของยูโรสตาร์ตกต่ำ จำนวนผู้โดยสารน้อยลงเป็นอย่างมากเนื่องจากความกังวลว่าอาจจะเกิดการก่อการร้ายระหว่างการเดินทางระหว่างประเทศ ยูโรสตาร์ต้องเปลี่ยนหลายกลยุทธที่จะหยุดปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาความล่าช้าของการเดินรถเป็นปัญหาหนักที่สุดเนื่องจากโครงสร้างระบบรางของอังกฤษไม่เอื้ออำนวย
ในปี 2006 ได้ก่อตั้งกลุ่มสิ่งแวดล้อมชองรถไฟยูโรสตาร์ และในปี 2008 ได้ใช้เป็นจุดขาย โดยมีเป่าหมายว่า การเดินทางโดยรถไฟยูโรสตาร์ เป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รถแต่ละขบวนนั้นมีหมายเลขที่แตกต่างกันประกอบไปด้วยหมายเลขต่างๆเริ่มต้นจากเลย 3 (3XXX) หมายเลข 3 หมายถึงรถไฟ TGV รุ่นที่ 3 เลขตัวที่ 2 คือหมายเลขของประเทศเจ้าของขบวนรถ
ชบวนรถที่ใช้วิ่งในปัจจุบันผลิตระหว่างปี 1992 ถึง 1996 ประกอบไปด้วยขบวนรถที่ใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานทั้งหมด 38 ขบวน ในอังกฤษใช้ชื่อว่า 373 และในฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า TGV 373000 ซึ่งต่างกันดังนี้
"Inter-Capital" มีจำนวน 31 ขบวน มีโบกี้ที่ใช้รับกระแสไฟฟ้าด้านหัวและท้าย 2 โบกี้ และโบกี้โดยสาร 18 โบกี้ มีความยาว 394 เมตร รับผู้โดยสารต่อเที่ยวได้ 750 คน แบ่งเป็นชั้นหนึ่งจำนวน 206 ที่นั่ง และชั้นปกติ 544 ที่นั้ง "North of London" เป็นขบวนรถที่สั้นกว่า มีจำนวน 7 ขบวน มีโบกี้ที่ใช้รับกระแสไฟฟ้าด้านหัวและท้าย 2 โบกี้ และโบกี้โดยสาร 14 โบกี้ มีความยาว 320 เมตร จำนวนที่นั่ง 558 ที่ แบ่งเป็นชั้น 1 จำนวน 114 ที่นั้ง และชั้นปกติ 444 ที่นั้ง ขบวนรถ North of London นี้เริ่มแรกถูกออกแบบให้ใช้เป็นขบวนรถท้องถิ่นยูโรสตาร์
ขบวนรถถูกออกแบบให้เหมือนกับขบวนรถ TGV และสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 300 กม./ชม. บน high-speed line และ 160 กม./ชม. ในอุโมงค์ช่องแคบเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยของประเทศอังกฤษ การจำกัดความเร็วในอุโมงค์ช่องแคบมีเหตุผลจากแรงต้านอากาศ พลังงานที่เกิดจากการถ่ายเทความร้อน และเพื่อให้เหมาะสมเมื่อวิ่งสวนกับขบวนรถที่วิ่งช้ากว่า
รถไฟชนิด Inter-Capital มีทั้งหมด 27 จาก 31 ขบวน ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งาน อีก 4 ขบวนถูกใช้งานโดย SNCF เป็นขบวนรถไฟ TGV ที่ให้บริการในประเทศ หนึ่งในนั้นใช้ในเส้นทาง ปารีส-ลีลล์ โลโก้ของยูโรสตาร์ถูกนำออกจากขบวนรถนี้ เหลือเพียงพื้นหลังสีขาว ดำ และเหลืองเท่านั้น
บริติชเรลคลาสส์ 373 (British Rail Class 373) สร้างโดยบริษัทอาลสตอม ประเทศฝรั่งเศส โดยสั่งซื้อในรุ่น TGV TMST มาวิ่ง โดยแต่ละขบวนมี 18 โบกี้ (รวมตู้เครื่องยนต์) โดยปัจจุบันให้บริการในเส้นทางลอนดอนไปยังปารีสและบรัสเซลส์ โดยทำความเร็วได้สูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (186 ไมล์ต่อชั่วโมง)
บริติชเรลคลาสส์ 374 (British Rail Class 374) สร้างโดยบริษัทซีเมนส์ ประเทศเยอรมนี เป็นรถไฟตระกูล Velaro (Siemens Velaro e320) ซึ่งสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยแต่ละขบวนมี 16 โบกี้ (เป็นรถไฟรุ่นที่ห้องเครื่องอยู่ในทุกตู้โดยสาร)โดยจะให้บริการในเส้นทางที่ไปยังอัมสเตอร์ดัมและแฟรงก์เฟิร์ต
ในปี 2004-2005 ขบวนรถไฟ Inter-Capital ที่ใช้เป็นขบวนรถบริการระหว่างประเทศได้ถูกนำมาตกแต่งภายในใหม่ โดยฟิลิปส์ สตาร์ค (Philippe Starck) จากรูปแบบสีเทา-เหลืองในชั้นมาตรฐาน และสีเทา-แดง ในชั้นพรีเมี่ยม และชั้นหนึ่ง ถูกแทนที่ใหม่ด้วยรูปลักษณ์ สึเทา-น้ำตาล ในชั้นมาตรฐาน และสีเทา-ส้มแก่ในชั้นหนึ่ง เพิ่มการติดตั้งปลั๊กไฟในทุกที่นั้งของทุกชั้น เปลี่ยนชื่อจากชั้นพรีเมี่ยม เป็นชั้นธุรกิจพรีเมียร์
การให้บริการมีความผิดพลาดทางเทคนิคเล็กๆน้อยๆตลอดเวลา แต่จนถึงปัจจุบันมีอุบัติเหตุใหญ่ๆที่เกิดขึ้นและกระทบการเดินรถคืออุบัติเหตุรถไฟตกรางในเดือนมิถุนายน ปี 2000 อุบัติเหตุอื่นๆเช่นเหตุการณ์ไฟไหม้ภายในอุโมงช่องแคบในปี 1996 และปี 2008